แหล่งท่องเที่ยวในเส้นทาง นครพนม-คำม่วน-กวางบิงห์


นครพนม


1.วัดพระธาตุนคร

ประวัติ วัดมหาธาตุ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๑๕๐ โดยพระมหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่มาจากเวียงจันทน์ ผู้สร้างเมืองนครพนม และสร้างวัดมหาธาตุ เป็นวัดประจำเมือง เพราะเดินกลางใจเมืองนครพนม อยู่ที่วัดมหาธาตุ จึงเป็นวัดที่ข้าราชการใหญ่น้อย ให้ความอุปถัมภ์ และเป็นวัดที่ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ของข้าราชการเมืองนครพนมมาโดยตลอด

ประวัติที่ผมเล่าให้ทราบนี้ เป็นประวัติที่ทางวัดมหาธาตุ ได้พิมพ์ไว้แจกแก่ผู้ที่มานมัสการพระธาตุนคร ซึ่งหากท่านได้อ่านประวัติของพระธาตุในจังหวัดนครพนม จากเอกสารหลาย ๆ เล่ม จะเห็นว่าขัดแย้งกัน ผมไม่มีความรู้แยกแยะได้ว่า เอกสารของใครถูก ของใครผิด ผมได้แต่นำเอามาจากเอกสารที่คิดว่า น่าจะเป็นเอกสารของทางราชการมากที่สุด นำมาเล่าให้ท่านฟัง ผิด ถูก ผมก็พอมีเอกสารอ้างอิงได้ ยกตัวอย่าง เช่น ผมเขียนไปเที่ยวหนองหาน ที่สกลนคร ผมสะกดคำว่า "หาน " ด้วย "น" แต่ถูกชาวสกลนครเพียงคนเดียวเขียนมาบอกทางหนังสือที่ผมเขียนว่า ผมเขียนผิด ต้องเขียนว่า "หนองหาร" จึงจะถูกต้อง เลยเดือดร้อน ต้องค้นคว้าหาเป็นการใหญ่ ถึงขั้นวิ่งกลับมาสกลนครเลยถือโอกาสมาตระเวน ไหว้พระธาตุประจำวันเกิดด้วย ปรากฏว่า ป้ายกลางเมืองตรงหน้าประตูเมืองของเขาเลยทีเดียว ผมเลยถ่ายรูปมาเป็นหลักฐานว่า เขียนว่า "หนองหาน" และอีกป้ายหนึ่งทางเลย ตำบลท่าแร่ จะมาทางนครพนมมีป้ายบอกว่า จุดชมวิวที่สวนที่สุดของหนองหาน ผมเลยคิดว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการยืนยันว่า หนองหานสะกดอย่างไรแน่ เพราะเป็นป้ายของทางราชการทั้งสองป้าย หากจะผิดก็ทางราชการผิดเอง และอีกหลายป้ายในเมืองสกลนครจะสะกดคำว่า "หาร" และ "หาน" ดังนั้นชาวสกลนครที่เขาอ้างมาต้องให้ใช้ตัว "ร" สะกด จะต้องไปตกลงกับกรมทางหลวงชนบท ทางหลวงแผ่นดินมหาดไทย ฯ ว่าจะเอาอย่างไรแน่ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็ปักป้าย และพิมพ์เอกสารต่าง ๆ สะกดให้เหมือนกัน ยังมีอีกมากมายที่เป็นแบบนี้ แม้แต่พระธาตุศรีคุณ หรือศรีคูณ ก็มีเอกสารที่สะกดไม่เหมือนกัน การท่องเที่ยวจะสะกดว่า "ศรีคุณ" ส่วนในหนังสือ "วัฒนธรรม พัฒนาทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา" ของจังหวัดนครพนม ซึ่งหนังสือเล่มนี้มี ๗๕ เล่ม คือ ๗๕ จังหวัด เป็นหนังสือของทางราชการที่สำคัญยิ่ง หาซื่อยากมาก ผมเพียรหาซื้อก็ยังมีไม่ครบ ต้องถือว่าเป็นเอกสารอ้างอิงได้เป็นอย่างดี เพราะผู้สั่งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำหนังสือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคล เฉลิมพระชนม์พรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ผู้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี คือ "นายกรัฐมนตรี" นายชวน หลีกภัย ผมจึงถือเอาเอกสารเล่มนี้เป็นเอกสารอ้างอิง ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสะกด เช่น ศรีคุณ หรือศรีคูณ , หนองหาน หรือหนองหาร ผมจะถือว่าหนังสือเล่มนี้ถูกต้องกว่าเพื่อน ส่วนเรื่องราวก็เช่นกัน ค้นหามาจากหนังสือหลายฉบับ บ้านผมมีหนังสือมาก ต้องจัดแบ่งเป็นห้องหนังสือมากถึงสี่ห้อง ชดเชยกับยามเด็กไม่มีหนังสือจะอ่าน หนังสืออ่านเล่มแรกที่ได้อ่านและเก็บไว้เป็นสมบัติ เมื่อสักปี พ.ศ.๒๔๘๓ คือ "เรื่องสายใจ" ของ ป.อินทปาลิต ไม่ได้ไปซื้อไปหา นายทหารข้างบ้านบิดา ที่กองบิน ๔ โคกกระเทียมเขาย้ายบ้าน ด้วยความอยากรู้ตามประสาเด็ก ไปเปิดดูในรังที่เขาเลี้ยงนกพิราบไว้ ก็พบหนังสือเล่มนี้เอามาอ่าน เรียกว่าอ่านไปสงสารนางเอกไป ซึ่งตอนนั้น ป.อินทปาลิต ยังไม่ได้เขียนหนังสือแนวตลกขบขัน คือ พลนิกรกิมหงวน ซึ่งตอนหลังท่านเริ่มเขียนแนวตลก ก็ต้องแอบอ่านเพราะไม่งั้น โดนบิดาแขกศีรษะหาว่าสติไม่ดี อ่านหนังสือไป หัวเราะไป พอโตขึ้นมีงานทำ มีสตางค์เป็นซื้อหนังสืออ่านสะสมเรื่อยมา จึงทำให้มีเอกสารในการค้นคว้ามาก

ตำนานของวัดมหาธาตุได้เล่าเอาไว้ว่า ในวัดมหาธาตุแต่เดิมจะมีธาตุ ใส่กระดูกมากมาย สะสมกันเอาไว้เรื่อยมาเป็นเวลานับพันปี และทราบว่ามีพระอรหันต์ธาตุอยู่องค์หนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ธาตุองค์ใด ทราบกันแต่ว่ามีแน่นอน เพราะเห็นแสงสว่างลอยเข้า ลอยออกจากกลุ่มพระธาตุ

พ.ศ.๒๔๖๒ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม จึงเชิญญาติโยมและข้าราชการมาประชุม มีท่านเจ้าเมืองมาประชุมด้วย เพื่อจะค้นหาว่าแสงสว่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากที่ใด เพราะองค์พระธาตุในวัด ก็เก่าแก่ทรุดโทรมมาก ด้วยไม่ได้มีการบูรณะมานับพันปีแล้ว จึงเห็นควรรื้อถอน เพื่อพื้นที่วัดจะได้กว้างขึ้น จึงตกลงรื้อถอนเพื่อค้นหาพระธาตุ พอรื้อไปได้สัก ๔ - ๕ ธาตุ ก็พบเข้าจริง ๆ เป็นพระธาตุองค์เล็ก เก่าแก่มากมีรากต้นโพธิ์ร้อยรัดอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอรหันต์ธาตุอยู่ พอเปิดดูข้างในพระธาตุก็พบผอบไม้จันทร์แดงอยู่หนึ่งใบ และใต้พระธาตุยังมีงูดำตัวใหญ่ ขนาดลำแข้งของคนตัวใหญ่ ๆ อยู่ตัวหนึ่ง นอนนิ่งอยู่ น่าจะเป็นงูผู้รักษาพระธาตุ จากนั้นนำผอบไปเปิดดูที่อุโบสถก็พบว่ามี พระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก ๒ นิ้ว ๔ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๒ องค์ แผ่นทอง บาง ๆ ยาว ๆ ประมาณ ๑ คืบ ๑ แผ่น และมีผอบไม้จันทร์แดงขนาดเท่าไข่เป็ดอีก ๑ ผอบ เปิดดูมีพระสารีริกธาตุอยู่ ๒๐ องค์ ขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีนานฝ้ายห่อหุ้มอยู่

จากนั้นจึงมีการประชุมเพื่อหาฤกษ์งามยามดี สร้างพระธาตุขึ้นเพื่อบรรจุพระอรหันต์สารีริกธาตุ และพระธาตุนคร ก็ได้เริ่มสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๕ นับเป็นพระธาตุคู่เมืองนครพนม

หากมาจากธาตุพนมตามถนนสาย ๒๑๒ หรือมาจากสกลนครตามถนนสาย ๒๒ เมื่อมาถึงริมโขงมีสามแยกก็ตรงมา หรือเลี้ยวซ้ายเข้าเมือง ผ่านโรงแรมที่ผมพัก ซึ่งโรงแรมนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงในจุดที่มีวิวสวยมาก โดยเฉพาะยามเช้า ชมดวงอาทิตย์ขึ้นไปต้องไปชมที่ไหน ตื่นให้ทัน ชมจากหน้าต่างห้องพักนั่นแหละ และหากคืนเดือนหงายแสงจันทร์จะทอดมายังชายหาดสีทอง มีเกาะทรายหน้าโรงแรม มีน้ำไหล และกระทบแสงจันทร์แล้วจะสวยมาก

ที่ตั้งบริเวณริมโขง ถนนสุนทรวิจิตร


2.วัดโอกาส
ประวัติ วัดโอกาสหรือวัดโอกาสศรีบัวบาน เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองนครพนมและเป็นที่ประดิษฐานพระติ้วและพระเทียมพระพุทธรูปแฝดอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนม พระติ้วและพระเทียม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสององค์ที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ แกะสลักจากไม้ตะเคียน ขนาดหน้าตักกว้าง 39 ซม. สูง 60 ซม. ประดิษฐานในบุษบกทรงปราสาทที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธานในโบสถ์ พระเทียมอยู่ทางขวามือของพระประธาน ส่วนพระติ้วอยู่ทางซ้ายพระติ้วและพระเทียมมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีมาแต่ครั้งอาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าศรีโคตรบูรหลวง พระองค์ทรงให้ขุดเรือโกลนเพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เมื่อขุดเรือสำเร็จแล้ว จึงเคลื่อนเรือ ลงสู่แม่น้ำโขง โดยใช้เครื่องทุ่นแรงที่เป็นไม้หมอนกลมเล็กจำนวนหลายท่อนวางเป็นแนวใต้ท้องเรือ เพื่อช่วยชักลากเรือให้เคลื่อนไปสะดวกยิ่งขึ้น แต่ขณะเรือเคลื่อนมาถึงไม้หมอนท่อนหนึ่งซึ่งเป็นไม้ติ้วก็ไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งไม้หมอนนั้นก็กระเด็นออกไป การชักลากเรือต้องใช้ความพยายามอยู่นานจึงนำเรือลงสู่แม่น้ำได้สำเร็จ เชื่อกันว่า หมอนไม้ติ้วนั้นเป็นพญาไม้ซึ่งมีเทวดาสิงสถิตอยู่ พระเจ้าศรีโคตรบูรหลวงจึงโปรดให้นำไปแกะสลักเป็นพระติ้ว เมื่อวันอังคาร เดือน 7 แรม 8 ค่ำ ปีกุน ตรงกับ พ.ศ. 1327 แล้วจัดพิธีสมโภชเป็นพระมิ่งเมืองนครศรีโคตรบูรต่อมาในสมัยพระเจ้าขัติยวงศาบุตรามหาราชกษัตริย์องค์ต่อมา ได้เกิดไฟไหม้ในหอพระติ้ว ชาวบ้านไม่สามารถนำพระติ้วออกมาได้ จึงคิดกันว่าพระติ้วคงจะไหม้ไปในกองเพลิง พระเจ้าขัติยวงศาฯ จึงโปรดให้นำไม้มงคลมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขึ้นแทนพระติ้ว พระพุทธรูปองค์ใหม่นี้เหมือนพระติ้วองค์เดิมไม่ผิด เพี้ยน ในเวลาต่อมาได้พบพระติ้วองค์เดิมในลำน้ำโขง พระเจ้าขัติยวงศาฯ จึงทรงอัญเชิญมาประดิษฐานคู่กับพระติ้วองค์ใหม่ซึ่งมีพระนามใหม่ว่าพระเทียมนับแต่นั้นมา

ที่ตั้งบริเวณริมโขง ถนนสุนทรวิจิตร

3.สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน

ประวัติ สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย (นครพนม) กับประเทศลาว (คำม่วน) พื้นที่ฝั่งไทย ที่บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ฝั่งลาวอยู่ที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน

ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง และบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัดเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างใช้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 1,723 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างรวม 900 วัน สะพานจะแล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดถึง 3 เดือน เมื่อสะพานแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีความยาวรวม 780 เมตร มีช่องลอดกว้าง 60 เมตร สูง 10 เมตร 2 ช่วง ความกว้างสะพาน 13 เมตร และมีการช่องจราจร 2 ช่อง และไม่มีทางรถไฟ

ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ มณฑลพิธี บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และเสด็จทรงเป็นประธานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการร่วมกับสหายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 11.11 น.

ที่ตั้งบ้านห้อม ถนนนคร – ท่าอุเทน

4.บ้านลุงโฮ

ประวัติสืบเนื่องจากจังหวัดนครพนม เป็นจังหวัดเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน มีความหลากหลายในประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น ประชากรบางกลุ่มบางเหล่ามีความเป็นมา ทางประวัติศาสตร์เป็นการเฉพาะ ที่เด่นชัดได้แก่ ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย ของกลุ่มชน 7 เผ่า จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐาน ในจังหวัดนครพนม

สำหรับประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่มีความสำคัญคือ เรื่องราวการเคลื่อนย้าย ของประชากรชาวเวียดนามที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ในยุคของสงครามอินโดจีน และสงครามเวียดนามโดยเฉพาะในชุมชนบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม ซึ่ง ณ สถานที่แห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดี โฮ จิ มินห์ ได้เดินทางเข้ามา พึ่งพระบรมโพธิสมภาร ประเทศไทยอยู่นานถึง 7 ปีมีการใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นศูนย์ประสานงาน วางแผนการกอบกู้เอกราชจากประเทศฝรั่งเศส

พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม บ้านลุงโฮ ที่สร้างขึ้นใหม่ จำลองชีวิตสมัยต่างของท่านประธานาธิบดี โฮ จิ มินห์ ไว้ตั้งแต่เด็ก และในสมัยที่อยู่ในประเทศไทยด้วย ส่วนบ้านที่เคยเป็นที่พักของท่านโฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีเวียดนามเป็นบ้านชั้นเดียว ลี้ภัยมาอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2466-2472 ยังมีต้นมะพร้าว ต้นมะเฟือง ซึ่งปลูกโดย ท่านโฮจิมินห์เหลืออยู่ หลังบ้านมียุ้งข้าว ตัวบ้านเป็นบ้านสวนแบบโบราณ ชั้นเดียว ร่มรื่น ในบ้าน มีห้อง 2 ห้อง มีเพียงเตียงไม้ ชั้นวางของ โต๊ะ เก้าอี้ยาว มีเสื้อผ้าวางบนชั้น ห้องกลางมีโต๊ะ เก้าอี้ยาว มีประวัติท่านโฮจิมินห์ติดไว้รอบห้อง มีรูปปั้นครึ่งตัว

ยังมีข้อมูล เรื่องราว เกี่ยวข้องกับประวัติและเรื่องราว ที่สำคัญของอดีตประธานาธิบดี โฮ จิ มินห์ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม เหมาะที่จะเป็นที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในอดีตของอดีตประธานาธิบดี โฮ จิ มินห์ ในช่วงพำนักอยู่ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม

อดีตประธานาธิบดี โฮ จิ มินห์ เป็นเหมือนจุดรวมใจของชาวเวียดนาม การพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านนาจอก นอกจากจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว จะเป็นการส่งเสริมมิตรภาพไทย - เวียดนาม ทั้งระดับรัฐบาลและระดับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวเวียดนาม จำนวนมากสนใจจะเข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ การเมืองสำหรับชาวเวียดนาม มีชาวเวียดนามเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นทุกปี

ที่ตั้ง บ้านนาจอก หมู่ที่ 5 ตำบลหนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม


5.หอนาฬิกา

ประวัติ หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ เป็นหอนาฬิกาที่ชาวเวียดนามได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชาวนครพนม เมื่อคราวย้ายกลับ ปิตุภูมิประเทศเวียดนาม สร้างเมื่อ พ.ศ.2503 สูงประมาณ 50 เมตร

ที่ตั้งบริเวณริมโขงถนนสุนทรวิจิตร

6.จวนผู้ว่าหลังเก่า

ประวัติ การก่อสร้างจากฝรั่งเศส ช่วงสมัยสงครามอินโดจีน จวนผู้ว่าฯหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระยาพนมครานุรักษ์ (อุ้ย นครทรรภ) ผวจ.นครพนม คนแรก เป็นตึก 2 ชั้น ทรงจั่ว ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องไทย ชั้นล่างปูกระเบื้องซีเมนต์ พื้นชั้นบนปูกระดานไม้เข้าลิ้น สร้างด้วยอิฐดินเผาสมัยโบราณ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นประตูโค้งครึ่งวงกลมหน้าต่างโค้ง เหนือประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น หรือแกะสลัก หลังคาไม่ลาดชันนัก อาคารมีเสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เนื่องจากแม้จะมีอายุที่เก่าแก่มากแล้ว แต่ยังคงรักษาสภาพและความสวยงามต่างๆ ไว้ได้อย่างดีและยังคงความสวยงามจนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มีเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถ.สุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม อายุเก่าแก่กว่า 80 ปี

ในปัจจุบันปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวนครพนม และมีนิทรรศการ "ภาพเล่าเรื่อง" ในอดีตของเมืองนครพนม

แบ่งเป็น 5 โซน อยู่ชั้นล่าง 3 โซน และชั้นบนอีก 2 โซน

โซนที่ 1 จะเป็นการเล่าเรื่องอาคารแห่งความทรงจำผ่านภาพ เป็นการเล่าที่มาของบุคคลที่เคยอาศัยอยู่ และประวัติของผวจ. ที่สร้างอาคารแห่งนี้

โซนที่ 2 จะเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับย่านเก่านครพนม ที่ผู้ชมจะได้เห็นบรรยากาศเก่าๆ ของชุมชนริมโขง และบางส่วนที่เป็น UNSEEN จ.นครพนม

โซนที่ 3 คือ ม่วนซื่นนครพนม ที่โซนนี้จะมีภาพที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างคนไทย ลาว และเวียดนาม

ชั้นสอง ทุกคนจะได้เห็นภาพไฮไลท์ ยายตุ้ม จันทนิต ถวายดอกบัวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสเยือนถิ่นอีสานในปี 2498 และประทับที่แห่งนี้ 1 ราตรี โดยขณะนั้นยายตุ้มอายุได้ 102 ปี ด้วยความจงรักภักดียายเดินทางมารอรับเสด็จแต่เช้า จนดอกบัวที่รอถวายให้เหี่ยวลงเพราะแสงแดดที่แรงจัดในช่วงบ่าย อีก 3 ปีต่อมายายตุ้มก็สิ้นชีวิต


สำหรับชั้นบนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 โซน

โซนที่ 1 เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องด้วยภาพ และเสียงระหว่างที่ในหลวง และพระราชินีทรงเสด็จมาประทับแรม

โซนที่ 2 โซนสุดท้ายจะเป็นการจัดแสดงห้องนอนใหญ่ที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงประทับแรม แต่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เนื่องจากทางสำนักพระราชวังเป็นคนขนมา และขนกลับ

อาคารด้านหลังได้ปรับปรุงให้เป็น "เฮือนเฮือไฟ" (เรือนเรือไฟ) เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และการสร้างเรือไฟของ จ.นครพนม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ชมเรือไฟโบราณที่มีขนาดแค่ 4-5 ศอก และทำด้วยวัสดุธรรมชาติ

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) เดิมเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของ พระยาอดุลยเดชสยามเมศวรภัคดีพิริยพาหะ (อุ้ย นาครทรรพ) เทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ซึ่งเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ก่อสร้างสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2455-2457 ผู้สร้างเป็นชาวญวน ชั้นบนและล่างไม่มีเสา และไม่มีการตอกตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้การเข้าเดือยไม้

ต่อมาพระยาอดุลยเดชฯ ได้ขายอาคารหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นที่พักของ ผู้ว่าฯ เมื่อ พ.ศ. 2470 ในราคา 2 หมื่นบาท และในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2498 ในหลวงและพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดจึงจัดให้จวนแห่งนี้เป็นที่ประทับแรม

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน สำหรับคนที่สนใจเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ที่ตั้งบริเวณริมโขง ถนนสุนทรวิจิตร


7.วัดนักบุญอันนา

ประวัติ เป็นศุนย์กลางของชาวคริสต์ริมฝั่งโขงหรือมิชซังลาว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๒ เคยมีโบสถ์เก่าและสำนักสังฆราช ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นอาคารใหญ่ทรงตะวันตก มีหอคอยคู่ที่มีลักษณะเป็นยอดแหลมสูงเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้ตั้งแต่ระยะไกล วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ขนมาจากเมืองไซ่ง่อนในเวียดนามสมัยนั้น แต่ได้ถูกระเบิดทำลายหมด ในช่วงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนไทยกับฝรั่งเศส ส่วนโบสถ์หลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับโบสถ์เดิมที่ถูกทำลายไป

ที่ตั้งบริเวณริมโขง ถนนสุนทรวิจิตร บ้านหนองแสง ต.ในเมือง

8.ล่องเรือชมสองฝั่งไทย-ลาว

ชมบรรยากาศแม่น้ำโขงยามเย็น ของสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทย – ลาว

*****************************************************************
คำม่วน


1.วัดพระธาตุศรีโคตรบอง

ประวัติ สร้างขึ้นเพื่อเป็น อนุสาวรีย์ พระยาศรีโคตรบอง กษัตริย์นครศรีโคตตะบุระเนื่องจากที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระ สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ทั้ง 4 คือ พระกะกุสันโท, พระโกนาคะมะโน, พระกัดสะโบและพระโคตะโม พระธาตุศรีโคตรบองนี้ สร้างขึ้นโดยพระสมินทะราช หรือสุมินตตะธรรมวงศ์สาอะทิราช แห่งราชอาณาจักรศรีโคตรบอง (ประมาณศตวรรษที่ 6)

ในสมัยนี้มีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิที่เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในอาณาจักร สีโคตรบอง โดยคำแนะนำของพระเถระทั้งหลาย เจ้าสุมินทะราชจึงได้ลงมือก่อสร้างพระธาตุศรีโคตรตะบองขึ้นเพื่อเฉลิมพระ เกียรติแก่พระยาศรีโคตรบองและได้เอา พระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ดินแดนแห่งนี้

แขวงคำ ม่วน ตั้งอยู่ทางภาคกลางของ สปป.ลาว ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 16,315 ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองประมาณ 251,000 คน (ข้อมูลปี 1991) ประกอบด้วย 6 ตัวเมือง คือ เมืองท่าแขก, เมืองหนองบก, เมืองหินบูน, เมืองมหาไชย, เมืองยมราช และเมืองบัวละพา

ซึ่งประกอบด้วยหลายชนชาติ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน มีชายแดนติดกับแขวงบริคำไชย, แขวงสะหวันนะเขต, ประเทศไทยและประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แขวงคำม่วน เป็นเขตพูดอย เพียงที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านธรรมชาติและศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกสืบทอดมาแต่ดึกดำบรรพ์ผ่านมาแล้ว

ที่ตั้งตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองท่าแขก 8 กิโลเมตร

2.กำแพงหินยักษ์

ประวัติ กำแพงหินยักษ์ สันนิฐานว่า เกิดขึ้นในสมัยอณาจักรฟูนัน สร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 5

ที่ตั้ง ทางหลวงหมายเลข 13 บนเส้นทางจากเมืองท่าแขกไปเวียงจันทร์ ใกล้หลักเขต กม.8


3.ถ้ำพระหนองปลาฝา

ประวัติ ค้นพบถ้ำของชาวบ้านชื่อ “บุนนง” เลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าขาย วันหนึ่งได้ปีนเข้าไปในถ้ำที่มีความสูงกว่า 20 เมตรจากพื้น เพื่อหาอึ่งอ่างมาทำเป็นอาหาร ได้พบพระพุทธรูปโบราณเป็นจำนวนมาก จึงกลับบ้านไปนอนเพราะคิดว่าตัวเองฝันไป วันรุ่งขึ้นจึงกลับมาพิสูจน์พร้อมด้วยเพื่อนบ้านหลายคน พบพระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 600 ปีจำนวน 229 องค์ จึงแจ้งให้ทางการทราบ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเวลาต่อมา ในช่วงหลายๆ ปีก่อนนักท่องเที่ยวยังต้องใช้วิธีปีนบันไดไม้ไผ่พาดขึ้นทางปากถ้ำ หลังจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ทางการจึงก่อสร้างบันไดแบบถาวร ด้านใต้ของถ้ำมีสายน้ำเล็กๆ ไหลออกมา สามารถนั่งเรือเข้าไปชมหินงอกหินย้อยภายในถ้ำได้ คำว่า “ปาฝา” หรือปลาฝาในภาษาลาวนั้นหมายถึง “เต่าหรือตะพาบน้ำ” ซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนี้

ที่ตั้งหลวงหมายเลข 12 เลี้ยวเข้าถนนลูกรังประมาณ 5 กิโลเมตร

4.ถ้ำนางแอ่น

ประวัติ ซึ่งเป็นถ้ำเก่าแก่ มีธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ และมีความสวยงาม ปัจจุบันกำลังปรับปรุง บริเวณสถานที่ ห้องน้ำ ห้องประชุม คาราโอเกะ สนามเด็กเล่น สวนหย่อมต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม รวมทั้งมีกิจกรรม ผจญภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมพายเรือลอดถ้ำ และกิจกรรมผจญภัยต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการอีกมากมาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเปิดสะพาน ในวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 นี้ เป็นถ้ำที่นักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่สำคัญต่าง ๆ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง (ประมาณ 15 กิโลเมตร)

ที่ตั้งบนทางหลวงหมายเลข 12 ประมาณ 18 กิโลเมตร

5.ถ้ำน้ำลอดเซปั้งไฟ

ประวัติ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบถ้ำลอดแห่งนี้ในปี 1905 (พ.ศ.2448) โดยนั่งแพไม้ไผ่เข้าไป อีก 90 ปีต่อมา คือ ในปี 2538 นักสำรวจจากฝรั่งเศสที่อ่านพบเรื่องราวเกี่ยวกับถ้ำสวยงามแห่งนี้เข้าจึงได้กลับไปเยี่ยมชมอีกครั้ง

ทีมสำรวจใหม่ที่นำโดยนักสำรวจถ้ำ จอห์น พอลแล็ค (John Pollack) เดินทางไปยังเซบั้งไฟในปี 2549 เก็บความประทับใจกลับไป จากนั้นได้ออกหาทุนเพื่อการสำรวจถ้ำทั้งระบบ ภายในถ้ำมีความยาวรวมกันเป็นระยะทางถึง 9.5 กิโลเมตร

ที่ตั้งเมืองมหาชัยเมืองเก่า บนทางหลวงหมายเลข 12 ประมาณ 40 กิโลเมตร

6.ถ้ำกองลอ

ประวัติ ถ้ำกองลอ ประวัติ เพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ ลักษณะเหมือนอุโมงค์ส่งน้ำซอกซอนไปตามเขาหินปูน ผ่านคูหาน้อยใหญ่และหินงอกหินย้อยรูปร่างงดงามแปลกตา น่าเสียดายที่บางส่วนถูกขุดทำลายเพราะชาวบ้านนึกว่ามีแร่เงินแร่ทองอยู่ภาย ใน พ้นจากอุโมงค์ถ้ำเข้าสู่เขตวนอุทยานและป่าสงวนแห่งชาติพูหินปั้น มีต้นไม้และสัตว์หายากหลายชนิด และหมู่บ้าน(หลังเขา) ของชาวลาวลุ่มที่อพยพหนีโจรจีนฮ่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่นานกว่าร้อยปี แล้ว ระยะเวลาเที่ยวถ้ำลอดกองลอที่ดีที่สุดคือเดือนตุลาคม –กุมภาพันธ์ เพราะระดับน้ำสูงเรือสามารถแล่นได้ตลอดถ้ำ แต่การเดินทางไปเที่ยวถ้ำค่อนข้างลำบากไม่ว่าจะเป็นช่วงใด จากท่าแขกต้องนั่งรถโดยสารไปลงที่บ้านนาหิน จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซด์แท็กซี่ไปบ้านนาเผือก จากบ้านนาเผือกจ้างรถไปยังโพนแยง จากโพนแยงเดินทางไปอีก 8 กิโลเมตร จึงจะถึงปากทางเข้าถ้ำ (ห่างจากท่าแขก ประมาณ 100 กิโลเมตร)

ที่ตั้งเดินทางไปตามถนน หมายเลข 13 แล้ว เลี้ยวขวาที่แยกหลักซาว ไป ตามถนนหมาย 8 ทางไปเมืองหลักซาว

ไปด่านนาเพ้า ชายแดนเวียดนาม ก่อนถึงบ้านนาหิน ประมาณ 3 กม.

*****************************************************************



กวางบิงห์ 

1.หาดเหนียดเลย์

เวียดนามมีชายทะเลยาวมาก ประมาณ ๑,๒๕๐ กิโลเมตร ตลอดแนวเขตประเทศด้านทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีอ่าวสำหรับจอดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ พอที่จะใช้เป็นท่าเรือได้ชายทะเลแถบนี้มีแหลมยื่นออกมาบ้าง และในบางตอนประกอบด้วยเนินทรายสูง แผ่เข้าไปในแผ่นดิน เนินทรายบางแห่งสูงถึง ๔๐ เมตร เช่น เนินทรายที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองดงเหย

ที่ตั้งเมืองดงเหย จังหวัดกวางบิงห์

2.ถ้ำฟองยา

ประวัติ ถ้ำฟองยา (PhongNha Cave) เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำซอน (Son River)อยู่ห่างจากนครดงเหย (Dong Hoi) ไปทางทิศเหนือราว 50 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 200,000 เฮกตาร์ (Ha) อยู่ในเขตจังหวัดกวางบิงห์ (QuangBình) ซึ่งเป็นจังหวัดอยู่ในพื้นที่ของภาคกลางเวียดนาม โดยหางจากกรุงฮานอยทางทิศเหนือประมาณ 488 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติฟองยา – แกะบ่าง มีพื้นที่ทั้งที่อยู่ในประเทศเวียดนาม และส่วนที่อยู่ในประเทศลาวด้วย โดยรวมแล้ว จะมีเนื้อที่กว้างถึง 400,000 เฮกตาร์ อุทยานแห่งชาติฟองยา – แกะบ่างเป็นเขตป่าและภูเขาหินปูนที่มีอายุประมาณ 400 ล้านกว่าปี ถือว่าเก่าแก่ที่สุดของทวีปเอเชีย 90% พื้นที่ของป่าไม้ในอุทยาน ฯ คือป่าธรรมชาติ และเนื่องจากเป็นเขตของภูเขาหินปูนนี้เองจึงได้ทำให้มีมากอุโมงค์และถ้ำที่สวยงามไปตามแนวของภูเขา จากการสำรวจของระหว่างสมาคมภูมิประเทศแห่งสหราชอาณาจักรกับภาควิชาภูมิประเทศและธรณีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ เวียดนาม (มหาวิทยาลัย กรุงฮานอย) ปรากฏว่า ในบริเวณภูเขาเนินหินปูนแกะบ่างนั้นมีทั้งถ้ำลอดของแม่น้ำชอน (Song Son) โดยมีความยาวถึง 13,969 เมตรและมีทั้งโถงต่าง ๆ ที่มีความสูงเฉลี่ยจากพื้นจรดเพดานถ้ำ 10 – 14 เมตร มากกว่า10 แห่งอีกด้วย เฉพาะส่วนถ้ำฟองยาที่ซึ่งขณะนี้สามารถสำรวจได้นั้นก็มีความยาว ราว 7,700 เมตร และมีการประมาณว่าความยาวของถ้ำที่มีทั้งหมดในอุทยาน ฯ แห่งนี้รวมแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 44 กิโลเมตร

ที่ตั้งอำเภอ โบจักห์และ อำเภอ มินห์หัว จังหวัดกวางบิงห์

3.ถ้ำพาราไดซ์หรือ ถ้ำเทียนเดื่อง

ประวัติ คนในท้องถิ่นพบถ้ำนี้ในปี พ.ศ. 2548 แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปี พ.ศ. 2553โดยต้องขึ้นบันใดรวม524ขั้นจากเชิงเขา เพื่อไปถึงปากถ้ำ บรรยากาศด้านในถ้ำมีความอลังการสมกับคำว่า สวรรค์ ระบบบันไดทางเดินในถ้ำทำจากไม้รวมความยาว1พันเมตรกว้าง2.1เมตร มีการสร้างจุดพักกลางทางขนาด30-50ตารางเมตรเพื่อเป็นจุดชมวิวและจนถึงขณะนี้บันใดไม้ในถ้ำเทียนเดื่องยังถือเป็นบันใดที่ยาวที่สุดของเวียดนาม

ที่ตั้ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฟองยา-แก๋บ่าง อำเภอโบ๊จัก จังหวัดกวางบิงห์

คลิปข่าววันเดียวเที่ยว 3 ประเทศ